Latest media :

รายงานการวิจัยการศึกษาแนวทางการส่งเสริมการรู้หนังสือฯ



ชื่อหนังสือ : รายงานผลการวิจัยการศึกษาแนวทางส่งเสริมการรู้หนังสือของสถานศึกษา กศน. ในเขตภาคเหนือ

ประเภท : รายงานการวิจัย
กลุ่มเป้าหมาย : ครูและบุคลากร กศน. / ทั่วไป

ขนาดรูปเล่ม : A4
จำนวนหน้า : 126 หน้า (รวมปก)
ปีที่พิมพ์ :  กันยายน  2558

ผู้วิเคราะห์ข้อมูล/ผู้เขียน:  นางรสาพร  หม้อศรีใจ : ครูชำนาญการพิเศษ   สถาบัน กศน.ภาคเหนือ

บทคัดย่อ :
                การวิจัยครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อ  1)  ศึกษาสภาพ ปัญหา ความต้องการ การส่งเสริมการรู้หนังสือของสถานศึกษา กศน. และ 2)  ศึกษาแนวทางส่งเสริมการรู้หนังสือของสถานศึกษา กศน.อำเภอที่เหมาะสมกับกลุ่มเป้าหมาย วิธีดำเนินการศึกษา มีพื้นที่ดำเนินการศึกษา ได้แก่ 1) กลุ่มศูนย์หล่ายดอย กศน.อำเภอเกาะคา จังหวัดลำปาง 2) กลุ่มศูนย์อิงดอย อำเภอลอง จังหวัดแพร่ 3) กลุ่มศูนย์ห้าขุนศึก อำเภอบ้านด่านลานหอย จังหวัดสุโขทัย และ4) กลุ่มศูนย์อู่ข้าวอู่น้ำ อำเภอโพทะเล จังหวัดพิจิตร         กลุ่มตัวอย่างในการศึกษาครั้งนี้ คือ ผู้บริหาร กศน.อำเภอ ครูผู้สอน และผู้เรียน/ผู้รับบริการ ของสถานศึกษาที่เป็นพื้นที่การวิจัย โดยเลือกจังหวัดและอำเภอในเขตภาคเหนือ แบบเจาะจง (Purposive Sampling) โดยพิจารณาจากความต้องการ ความสมัครใจ ความพร้อมของสถานศึกษา และผู้บริหารที่กำหนดจุดเน้นในการส่งเสริมการรู้หนังสือ พิจารณาความพร้อม ความสามารถของครู ความมุ่งมั่นตั้งใจในการส่งเสริมการรู้หนังสือ และพิจารณาความพร้อมของกศน.ตำบลในการใช้เป็นแหล่งเรียนรู้   ดำเนินการเก็บรวบรวมข้อมูลโดย 1) การศึกษาเอกสารของ กศน. อำเภอที่เกี่ยวข้องกับการส่งเสริม   การรู้หนังสือ ได้แก่แผนปฏิบัติงานประจำปี 2557 รายงานผลการดำเนินงาน ประจำปี 2557  หลักสูตรการรู้หนังสือของสถานศึกษา แผนการจัดกิจกรรมส่งเสริมการรู้หนังสือ และเอกสารอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องการส่งเสริมการรู้หนังสือ 2) การสนทนากลุ่ม โดยใช้ประเด็นคำถามที่กำหนดไว้  เมื่อได้ข้อมูลเรียบร้อยแล้ว จึงนำข้อมูลลดังกล่าว สรุปและกำหนดเป็นแนวทางในการส่งเสริมการรู้หนังสือตามสภาพ ปัญหา ความต้องการ การส่งเสริมการรู้หนังสือของสถานศึกษา กศน.อำเภอ และติดตามความก้าวหน้าในการส่งเสริมการรู้หนังสือ โดย เก็บรวบรวม และบันทึกข้อมูล ตรวจสอบข้อมูลแบบสามเส้า เพื่อให้ได้ข้อมูลที่ถูกต้อง ครบถ้วน เพื่อวิเคราะห์เนื้อหา (Content Analysis) 

ผลการศึกษา พบว่า
  1. การส่งเสริมการรู้หนังสือของสถานศึกษา กศน.อำเภอ  สถานศึกษาไม่มีหลักสูตรส่งเสริมการรู้หนังสือของสถานศึกษา มีเพียงสื่อการเรียนเพื่อการรู้หนังสือของสำนักงาน กศน. และแบบเรียนส่งเสริมการรู้หนังสือไทย ศูนย์การเรียนชุมชนชาวไทยภูเขา “แม่ฟ้าหลวง” ของสถาบันพัฒนาการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัยภาคเหนือ  ซึ่งแบบเรียนดังกล่าวมีเนื้อหามาก และเป็นเนื้อหาที่ไม่สอดคล้องกับสภาพ ความต้องการของผู้เรียน นอกจากนี้ ไม่มีคู่มือหรือแผนการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ สถานศึกษาจึงต้องการพัฒนาหลักสูตรการรู้หนังสือ จัดทำแบบเรียนส่งเสริมการรู้หนังสือ ที่มีเนื้อหาสอดคล้องกับสภาพ บริบทของผู้ไม่รู้หนังสือในพื้นที่การวิจัย และต้องการจัดทำแผนการจัดกิจกรรมการเรียนรู้เพื่อให้ครูผู้สอนใช้เป็นแนวทางการจัดกิจกรรมส่งเสริมการรู้หนังสือ
  2. แนวทางในการส่งเสริมการรู้หนังสือ
    จากข้อมูลสภาพและความต้องการที่กล่าวข้างต้น จึงสรุปและกำหนดแนวทางในการส่งเสริมการรู้หนังสือ ประกอบด้วย
    1) หลักสูตรส่งเสริมการรู้หนังสือไทย ที่มีเนื้อหามาจากสภาพบริบท ของชุมชน ผู้เรียน    คำที่ต้องการใช้ในชีวิตประจำวัน มีคำหลัก จำนวน 100 คำ คำเสริมคำหลัก จำนวน 77 คำ
    2) แบบเรียนส่งเสริมการรู้หนังสือไทย ที่มีแบบฝึกทักษะการฟัง การพูด การอ่าน และ   การเขียน  ที่กำหนดเนื้อหาตามหลักสูตรกำหนด แบ่งเนื้อหา เป็น 9 สภาพ แบ่งเนื้อหาออกเป็น 2 ส่วนคือ สภาพที่ 1 เป็นบทเรียนเตรียมความพร้อมสำหรับผู้เรียนที่อ่านไม่ออก และเขียนไม่ได้ แต่สื่อสารด้วยการฟังและพูดได้ แล้วจึงเรียนรู้ในสภาพที่ 2 ถึง สภาพที่ 9 ซึ่งเป็นบทเรียนที่ใช้สอนการฟัง พูด อ่านและเขียน
    3) คู่มือการจัดกิจกรรมส่งเสริมการรู้หนังสือไทย ที่ครูผู้สอนใช้ในการจัดการเรียนรู้ให้ผู้เรียนได้เรียนรู้เป็นไปตามจุดมุ่งหมายของหลักสูตรได้อย่างครบถ้วน พร้อมทั้งมีเครื่องมือในการวัดและประเมินผลการเรียนรู้ของผู้เรียน
สถานศึกษาสามารถใช้หลักสูตรการรู้หนังสือไทย แบบเรียนส่งเสริมการรู้หนังสือไทย และคู่มือการจัดกิจกรรมส่งเสริมการรู้หนังสือ ตามโครงการวิจัยครั้งนี้ เป็นแนวทางในส่งเสริมการรู้หนังสือไทยของสถานศึกษา โดยพัฒนาปรับปรุงหลักสูตร แบบเรียน และคู่มือให้สอดคล้องกับสภาพ ปัญหา บริบทของสถานศึกษาและผู้เรียน/ผู้รับบริการมากขึ้น

Share this article :

Post a Comment

 
Copyright © 2014. NorthNFE-Media - All Rights Reserved
Template Created by Creating Website Published by Mas Template
Proudly powered by Blogger