รายงานการพัฒนาเกณฑ์มาตรฐานศูนย์ฝึกอาชีพในเขตภาคเหนือ


Download :  รายงานการพัฒนาเกณฑ์มาตรฐานศูนย์ฝึกอาชีพชุมชนในเขตภาคเหนือ (PDF 7.89 MB)
ชื่อหนังสือ :  รายงานการพัฒนาเกณฑ์มาตรฐานศูนย์ฝึกอาชีพชุมชนในเขตภาคเหนือ
ประเภท :   รายงานการพัฒนา 

กลุ่มเป้าหมาย :  ครู กศน. / บุคลากร กศน.
จำนวนหน้า :  291 หน้า (รวมปก)
ปีที่พิมพ์ :  พ.ศ.2557

ผู้เขียน :
นางอรวรรณ ฟังเพราะ  ครู ชำนาญการพิเศษ สถาบัน กศน.ภาคเหนือ

เนื้อหา/บทคัดย่อ
          การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาเกณฑ์มาตรฐานศูนย์ฝึกอาชีพชุมชนในเขตภาคเหนือ โดยใช้รูปแบบเทคนิคการวิจัยแบบเดลฟาย (Delphi Technique) ประชากรที่ใช้ในการศึกษาครั้งนี้ ได้แก่ ผู้บริหารสถาบัน กศน.ภาคเหนือ ผู้บริหารสำนักงาน กศน.จังหวัด ผู้บริหาร กศน.อำเภอ ศึกษานิเทศก์ ข้าราชการครู ครูอาสาสมัครฯ และครู กศน.ตำบล ในเขตภาคเหนือ ผู้รายงานได้ดำเนินการเลือกกลุ่มตัวอย่าง โดยการเลือกแบบเจาะจง จากผู้บริหารสถาบัน กศน.ภาคเหนือ ผู้บริหารสำนักงาน กศน.จังหวัด ผู้บริหาร กศน.อำเภอ ศึกษานิเทศก์ ข้าราชการครู ครูอาสาสมัครฯ และครู กศน.ตำบล ในเขตภาคเหนือ โดยแบ่งเป็น 2 กล่ม คือ กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการยกร่างเกณฑ์มาตรฐานศูนย์ฝึกอาชีพชุมชนในเขตภาคเหนือ เป็นผู้ที่มีความรู้และประสบการณ์ด้านการส่งเสริม สนับสนุน และจัดการศึกษาเพื่อพัฒนาอาชีพ และการดำเนินกิจกรรมตามโครงการศูนย์ฝึกอาชีพชุมชน จำนวน 9 คน และกลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการตรวจคุณภาพเกณฑ์มาตรฐานศูนย์ฝึกอาชีพชุมชนในเขตภาคเหนือ เป็นกลุ่มผู้เชี่ยวชาญที่เป็นผู้ที่มีความรู้และประสบการณ์ด้านการส่งเสริม สนับสนุน และจัดการศึกษาเพื่อพัฒนาอาชีพ และการดำเนินกิจกรรมตามโครงการศูนย์ฝึกอาชีพชุมชนจนประสบความสำเร็จได้รับรางวัลการประกวดผลิตภัณฑ์ศูนย์ฝึกอาชีพชุมชนในระดับภาค จำนวน 21 คน จำแนกออกเป็น 4 กลุ่ม คือ 1) กลุ่มผู้บริหาร ประกอบด้วย ผู้บริหารสถาบัน กศน.ภาคเหนือ จำนวน 1 คน ผู้บริหารสำนักงาน กศน.จังหวัด จำนวน 3 คน และผู้บริหาร กศน.อำเภอ จำนวน 7 คน รวม 10 คน 2) กลุ่มศึกษานิเทศก์ จำนวน 3 คน 3) กลุ่มข้าราชการครู จำนวน 3 คน และ 4) กลุ่มครูอาสาสมัครฯ และครู กศน.ตำบล จำนวน 4 คน เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย เป็นเครื่องมือการวิจัยแบบเดลฟาย (Delphi Technique) โดยใช้แบบสอบถาม ประกอบด้วย 1) แบบสอบถามเพื่อการพัฒนา (รอบที่ 1) เป็นแบบสอบถามแบบมาตราส่วนประมาณค่า และ 2) แบบสอบถามเพื่อการพัฒนา (รอบที่ 2) แบบสอบถามแบบมาตราส่วนประมาณค่า

ผลการวิเคราะห์ข้อมูลพบว่า ผู้เชี่ยวชาญมีความคิดเห็นต่อเกณฑ์มาตรฐานศูนย์ฝึกอาชีพชุมชนในเขตภาคเหนือในทุกมาตรฐาน ตัวบ่งชี้ และเกณฑ์พิจารณา ว่ามีความเหมาะสมอยู่ในระดับมากขึ้นไป (Mdn.≥3.50) และแต่ละข้อความของมาตรฐาน ตัวบ่งชี้ และเกณฑ์พิจารณามีความสอดคล้องกันของข้อความทั้งสามกรณี โดยมีค่าพิสัยระหว่างควอไทล์ (I.R.) อยู่ระหว่าง 0.50 - 1.50 ค่ามัธยฐาน (Mdn.) มีค่าอยู่ระหว่าง 4.00 – 5.00 และค่าความแตกต่างระหว่างมัธยฐานกับฐานนิยม มีค่าอยู่ระหว่าง 0.00 – 1.00 ซึ่งเป็นไปตามตามค่าสถิติกรณีที่ 1 (ค่าพิสัยระหว่างควอไทล์ มีค่าไม่เกิน 1.50 ค่ามัธยฐาน มีค่า 3.50 ขึ้นไป และค่าความแตกต่างระหว่างมัธยฐานกับฐานนิยม มีค่าไม่เกิน 1.00) ถือว่าผู้เชี่ยวชาญมีความเห็นสอดคล้องกัน สรุปได้ว่า เกณฑ์มาตรฐานศูนย์ฝึกอาชีพชุมชนในเขตภาคเหนือ ประกอบด้วย มาตรฐาน 5 ด้าน ตัวบ่งชี้ 17 ตัวบ่งชี้ และเกณฑ์พิจารณา 112 เกณฑ์พิจารณา

เอกสารที่เกี่ยวข้อง
• เกณฑ์มาตรฐานศูนย์ฝึกอาชีพชุมชนในเขตภาคเหนือ
Share this article :
 
Copyright © 2014. NorthNFE-Media - All Rights Reserved
Template Created by Creating Website Published by Mas Template
Proudly powered by Blogger